ประวัติอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2)

สำหรับใครที่เป็นสายเที่ยวพิพิธภัณฑ์หรืออุทยาน สัมผัสความงามสมัยโบราณกาล มีอยู่ที่หนึ่งที่อยากแนะนำเป็นอย่างมาก อย่าง อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือเรียกสั้นๆ ว่า อุทยาน ร.2 บอกเลยว่าเดินเที่ยวชมทั้งวันไม่มีเบื่อ แต่อย่าเพิ่งรีบออกเดินทางมา  เอาเป็นว่าก่อนชมของจริงลองไปศึกษาประวัติกันหน่อยดีกว่า ช่วยเพิ่มอรรถรสในการเดินเที่ยว

พาไปรู้จัก “อุทยาน ร.2”

ในส่วนของอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือเรียกสั้นๆ ว่า อุทยาน ร.2 นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นโครงการภายใต้มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เฉลิมพระเกียรติให้กับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ได้พระราชทานศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ที่สุดแสนจะงดงามไว้ให้เป็นมรดกแห่งชาติไทยเรา จนองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก

เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม นั่นคือ พระราชสมุทรเมธี ได้เป็นผู้น้อมเกล้าฯ ถวายพื้นที่ให้ทำการก่อสร้างอุทยานแห่งนี้ขึ้นมา ด้วยเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ นับเป็นพื้นที่สำคัญเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชสมภพ หรือเกิดนั่นเอง

news-site-History-of-the-Royal-Park

โดยภายในอุทยานแห่งนี้ได้แบ่งโซนต่างๆ ไว้ทั้งหมด 6 โซน ดังนี้

  1. โซนลานจอดรถ

โซนแรกนี้ใครๆ ก็ผ่านกันแล้ว อย่าง โซนลานจอดรถที่จะอยู่บริเวณหน้าอุทยานฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ขายบัตรเข้าชม และพื้นที่ทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ร้านกาแฟสด ร้านขายของที่ระลึก แหล่งศึกษาเรือนไทยโบราณ ที่มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว รวมถึงพิพิธภัณฑ์ขนมไทยแบบจำลอง ที่จะมีหาบขายขนมเอย ทั้ง ข้าวต้มมัด น้ำแข็งไส ขนมในขวดโหลเอย ขนมในหม้อดินเอย วางให้ผู้เข้าชมได้อมยิ้ม ถ่ายรูปสวยงาม ซึ่งบรรยากาศจะเปรียบเสมือนเราอยู่ในอดีต ภาชนะที่ใส่ ช้อน ชาม โหลแก้ว ฯลฯ คือของในอดีตทั้งสิ้น

  1. โซนติดแม่น้ำกลอง

โซนที่ 2 จะเป็นในส่ว่นที่อยู่ติดกับแม่น้ำกลอง จะมองเห็นภาพวิวทิวทัศน์ผืนน้ำใหญ่ไพศาล ให้เราได้ถ่ายรูปเก็บภสพบรรยากาศต่างๆ ซึ่งที่นี่มีเรือประพาสอุทยานจอดอยู่ด้วย

  1. โซนอาคารทรงไทย

เป็นโซนที่ห้ามพลาดเลยเชียว ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บ่งบอกวิถีชีวิตในอดีตสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แบ่งออกเป็น หอชาย ที่ใส่ความเป็นอยู่ของชายไทย มีอาบ โล่ การละเล่น อย่าง หมากสภา การร่ำเรียนที่สมัยนั้นจะให้เฉพาะผู้ชายทำเท่านั้น ต่อมาเป็นหอหญิง ตกแต่งให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของหญิงไทย การจับจีบ เครื่องใช้เด็ก ต่อมาเป็นหอกลาง จำลองหุ่นขี้ผึ้งการใช้ชีวิต มีห้องพระ ห้องนอน โต๊ะเครื่องแป้ง ศิลปะโบราณวัตถุ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีชานเรือน และตำแหน่งศิลาฤกษ์ด้วย

  1. โซนอาคารเรือนไทย 9 หลัง

ภายในจะเป็นการเก็บรวบรวมพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระอัจฉริยะภาพด้านต่างๆ ของ ร.2 มีประดิษฐานพระบรมรูป สื่อมัลติมิเดีย และศาลาทรงงานจำลอง อย่าง พระที่นั่งสนามจันทร์

  1. โซนโรงละครกลางแจ้ง

จะเป็นโซนที่ใช้จัดการแสดงประเภทต่างๆ เช่น ละคร โขน ดนตรีตามบทที่ ร.2 ได้ประพันธ์ไว้ รวมทั้งการแสดงท้องถิ่นเนื่องในโอกาสต่างๆ ด้วย

  1. โซนสวนพรรณไม้

ปิดท้ายด้วยโซนสวนพรรณไม้ในวรรณคดีเรื่องต่างๆ เป็นพันธุ์ที่หายาก ไว้ศึกษาและอนุรักษ์ ทั้งยังมีงานประติมากรรมวางโชว์ เช่น รูปหล่อตัวละครเรื่องรามเกียรติ์ สังข์ทอง และไกรทอง ที่พระองค์ได้พระราชนิพนธ์ไว้

ศึกษาข้อมูลเหล่านี้แล้วสนใจอยากเดินเที่ยวชมอุทยานฯ ก็สามารถไปกันได้ โดยที่นี่เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.30 – 17.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ราคา 40 บาท และเด็กที่มีความสูงไม่เกิน 135 ซม. ในราคา 20 บาท ถือว่าไม่แพงเลยจริงๆ เมื่อเทียบกับสิ่งที่จะได้เห็น ได้รับกลับไป