ปฏิเสธไม่ได้ว่าตามจังหวัดต่างๆ ล้วนเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวอันน่าสนใจ โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชมธรรมชาติ ความสวยงามของทัศนียภาพของป่าเขายากที่จะอธิบายได้ ซึ่งคงต้องลองมาสัมผัสด้วยตัวเองจริงๆ อย่าง อุทยานแห่งชาติเขาแหลมเองก็นับว่าเป็นหนึ่งในอุทยานที่น่าสนใจ ควรค่าแก่การไปเยือนสักครั้ง แต่ถึงกระนั้นเราก็อยากให้ทุกๆ คนได้ลองมาศึกษาประวัติความเป็นมาของอุทยานแห่งชาตินี้สักเล็กน้อย สร้างความรู้จัก คุ้นเคยก่อนที่จะไปสัมผัสกันตัวต่อตัวสถานที่จริง
ก่อนไปเยือนมาทำความรู้จักกันก่อน
อุทยานแห่งชาติเขาแหลม มีเนื้อที่ประมาณ 935,625 ไร่ กว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่อำเภอทองผาภูมิและอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เรียกว่ากว้างใหญ่มากจริงๆ ที่นี่เป็นอุทยานที่มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ขั้นสุด เป็น 1 ใน 5 อุทยานแห่งชาติที่อยู่ในโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530 นั่นคือ โครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่พบว่าภายในอุทยานนั้นมีพื้นดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้ง ป่าเขาช้างเผือก ป่าเขาพระฤาษี ป่าเขาห้วยเขย่ง และป่าเขาบ่อแร่ รวมถึงพื้นน้ำซึ่งอยู่เหนือเขื่อนเขาแหลม ทัศนียภาพทั้งหมดสวยงาม มีสัตว์ป่านานาชนิด เหมาะแก่การจัดตั้งเป็นอุทยานฯ ให้ผู้คนได้มาศึกษาหาความรู้อย่างยิ่งยวด
ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ
ในส่วนของลักษณะภูมิประเทศนั้น อุทยานแห่งชาติฯ แห่งนี้ มีความสูงอยู่ที่ 100 -1700 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหินดินดาน หินปูนและหินทราย เทือกเขามีความสลับซับซ้อนจึงเกิดแหล่งน้ำลำธารหลายสาย เช่น แม่น้ำบิคี่ใหญ่ ห้วยเกรียงไกร ห้วยท่ามะเดื่อ ห้วยเกริงกะเวีย แม่น้ำรันตี ฯลฯ ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลมและแม่น้ำแควน้อยไป โดยเขตพื้นน้ำ อย่าง อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนเขาแหลมได้เริ่มกักเก็บในปี 2527 คิดเป็นร้อยละ 25.92 ของพื้นที่ภายในอุทยานแห่งชาติฯ เลยทีเดียว
สำหรับลักษณะภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จะมีครบ 3 ฤดู โดยแบ่งออกเป็น ฤดูร้อนเป็นช่วงสั้นๆ ระหว่างเดือนมีนาคม – กลางเดือนพฤษภาคม เฉลี่ยอุณหภูมิอยู่ที่ 37 – 38 องศาฯ ฤดูฝนช่วงกลางเดือนพฤษภาคม – เดือนตุลาคม (ตกหนักมากช่วงเดือนกรกฎาคม – เดือนสิงหาคม) และสุดท้ายฤดูหนาวช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ยอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 14 องศาฯ
สัตว์ป่าและพรรณพืชในอุทยานแห่งชาติฯ
สัตว์ป่าที่ร่วมอาศัยภายในอุทยานแห่งชาติเขาแหลมมีมากกว่า 268 ชนิด พบมากจะเป็น เก้ง พญากระรอกดำ กระจ้อน อีเห็นธรรมดา ค้างคาวเล็บกุด ชะนีมือขาว นกเสือแมลงหัวขาว นกหัวขวานเขียวป่าไผ่ นกปรอดดำ/คอลาย/เหลืองหัวจุก นะกะรางหัวหงอก เหยี่ยวแมลงปอขาแดง คางคกบ้าน กิ้งก่าแก้ว จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ ตุ๊กแกบ้าน งูลายสาบ เขียดจิก กบอ่อง ฯลฯ ในส่วนของพื้นน้ำ อย่าง ลำธารต่างๆ หรืออ่างเก็บน้ำก็จะพบกับสัตว์น้ำจืด เช่น ปลาซิงหางกรรไกร ปลากระทุงเหว ปลาชะโด ปลาสลาด ปลาค้า ปลาแขยงหิน ปลากด ปลาไส้ตันตาแดง ฯลฯ
ส่วนพรรณพืชที่มีก็มากมายเช่นกัน ด้วยความที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมมีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ จึงมียืนต้นขึ้นหนาแน่น แต่ละพื้นที่จะแตกต่างออกไป เช่น คล้ายป่าดงดิบจะอยู่บริเวณริมลำห้วยหรือตามร่องห้วยต่างๆ ฯลฯ ส่วนมากป่าจะพบอยู่ตามทิศตะวันตกและตะวันออก พรรณไม้ที่พบ เช่น แคยอดดำ อินทรชิต พิเภก เปล้าใหญ่ หว้า ฯลฯ พรรณพืชล่าง เช่น เข็มป่า เต่าร้าง ชะอม ฯลฯ รวมถึงมีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม (ถูกบุกรุกทำลายให้กลายเป็นพื้นที่เกษตร)
การท่องเที่ยวชมความสวยงามของธรรมชาติเป็นสิ่งดี แต่ถึงอย่างไรเราควรปฏิบัติตามคำแนะนำของอุทยานแห่งชาติฯ เสมอ ไม่ควรแหกกฎ บุกรุก เก็บเกี่ยวพรรณพืช รบกวนสัตว์ป่าต่างๆ แม้จะเป็นการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม